Skip to main content
sharethis

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2005 14:37น. 


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เปิดร่างรายงานกอส.ฉบับเสนอรัฐบาลชี้เหตุการณ์ตากใบเป็นจุดหักเหชาวบ้านไม่เชื่อใจรัฐ หวั่นผลสะทือนทำให้รัฐไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้ ระบุจุดเปลี่ยนเร่งให้รัฐเข้าสู่ภาวะ "รัฐล้มละลาย"เสนอ ใช้ยุทธศาสตร์พระราชทานกับ 9 แนวคิดสมานฉันท์ดับไฟใต้


 


ร่างเอกสารรายงานฉบับแรกของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ซึ่งเป็นตุ๊กตาใช้ในการพิจารณาแก้ไขเป็นร่างที่ 2 และ3 ก่อนนำเสนอรัฐบาล ได้ถูกนำมาแจกจ่ายให้กรรมการ กอส.ทั้ง 50 คนเพื่อใช้ในการเสนอแนะระหว่างการประชุม กอส. ในครั้งต่อไป โดยเอกสารดังกล่าวมีด้วยกัน 77 หน้า แบ่งออกเป็น 8 ส่วนประกอบด้วย


 


1:เรื่องของยศพรและอัมมานา


 


1.จินตนาการ


2.วินิจฉัยเหตุ : ทำความเข้าใจความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


3.แนวโน้มปรากฎการณ์ความรุนแรงในอนาคตอันใกล้


4.วิธีแก้ไข:ยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์ 9 ประการ


5.วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน:ข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย


6.ลักษณะพิเศษของงาน กอส.


7.มรดกของ กอส. ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความริเริ่มกอส.เพื่อสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทยระยะยาว


8.จินตนาการ


 


2 : ชัยชนะของสังคมไทย


 


ทั้งนี้ในส่วนที่ 3 เรื่องแนวโน้มของเหตุการณ์รุนแรงในอนาคตอันใกล้ซึ่งตอนหนึ่งได้ระบุถึงความรุนแรง-ความสัมพันธ์รัฐระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างผู้คนในรัฐโดยได้มีการหยิบยกเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่จำนวน 8 ครั้งในรอบ 2 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งสองมิติโดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีการสลายการชุมชุนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาสโดยเหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความไม่ไว้วางใจให้ทวีขึ้นในหมู่ประชาชนเพราะส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัด เชื่อว่าผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ


 


ดังนั้นการปราบปรามด้วยกำลังจึงเป็นเรื่องเกิดกว่าเหตุยิ่งกว่านั้นไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนร้ายจริงหรือเป็นเพียงผู้ชุมนุมเรียกร้องจากรัฐ วิธีที่รัฐปฎิบัติต่อพวกเขาจนต้องเสียงชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายไปยังค่ายทหารเป็นสิ่งที่ภาครัฐหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเป็นความตายระหว่างอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ แม้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบความจริงแต่ดูเหมือนไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบตามที่ควร ผลก็คือความเชื่อถือไว้วางใจที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อรัฐยิ่งถูกกร่อนแซะให้อ่อนแอลงไปอีก


 


เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูรู้สึกเห็นได้ชัดว่ารัฐปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมและเมือเกิดเหตุขึ้นก็ไม่ได้แสดงความเสียใจกับความตายของคนเหล่านี้ ไม่แน่ว่าความรู้สึกเช่นนี้เป็นความรู้สึกร่วมของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่หรือไม่ แต่หลายคนเห็นว่า


 


"เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์ที่ไม่(เคย)ปรากฎในประวัติศาสตร์พี่น้องประชาชนไม่เคยคาดคิดมาก่อนและทำให้การอยู่รวมกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธและไทยมุสลิมเปลี่ยนไป"


 


นอกจากนั้นในบริบทของความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคเหตุการณ์ตากใบเป็นจุดเริ่มต้นที่สื่อมวลชนและกลุ่มต่างๆในมาเลเซียวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยในทางลบอย่างกว้างขวาง นับเป็นครั้งแรกที่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยรวมศูนย์อยู่ที่รัฐสภาโดยสมาชิกทั้งพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลร่วมกันประนามการใช้มาตรการรุนแรง นอกจากจะกร่อนเซาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูแล้ว กรณีตากใบยังเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงทั่วไปทั้งในแง่ที่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมถูกกดขี่ในประเทศไทยและในแง่ที่รัฐไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการทำทารุณผู้ถูกจับกุมถึงชีวิต


 


ในรายงานส่วนที่ 3 นี้ยังระบุด้วยว่า ผลสะเทือนของเหตุการณ์ทั้ง 8 ครั้งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้วางใจในรัฐเพราะไม่แน่ใจว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐมากน้อยเพียงไร ชาวพุทธในพื้นที่ไม่ไว้วางใจรัฐเพราะเห็นว่าไม่สามารถปกปักรักษาพวกตนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐเองได้ ในแง่นี้สัญญาณอันตรายของรัฐอยู่ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ภาวะซึ่งบางคนเรียกว่า "รัฐล้มละลาย" (failed states) ซึ่งเป็นอาการที่รัฐไม่สามารถประกันความปลอดภัยให้กับพลเมืองของตนได้


 


ไม่สามารถให้บริการสาธารณะกับผู้คนในรัฐได้อีกทั้งยังเหมือนมีอาณาบริเวณที่อำนาจรัฐเข้าไม่ถึงมากขึ้นเรื่อยๆที่อันตรายยิ่งกว่านั้นคือ ไม่ว่ารัฐจะเป็นอย่างไร เข้มแข็งหรือล้มละลาย หากชุมชนยังเข้มแข็งผู้คนที่แตกต่างหลากหลายยังอยู่ร่วมกันในฐานะพลเมืองเสมอกันได้ประเทศก็ยังมั่นคงปลอดภัยแนวโน้มที่น่ากังวลคือไม่เพียงรัฐอ่อนแอแทบหมดกำลังจะปกป้องคุ้มครองพลเมือง แต่ชุมชนเองก็เหมือนเข้าใกล้กับความล้มละลายไปด้วย(failed communities) เช่น กรณีตันหยงละมอ


 


ในรายงานส่วนที่ 4 เรื่องยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์ 9 ประการระบุถึงแนวทางสมานฉันท์ในสังคมไทยเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในระยะยาวและสร้างสันติสุขและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ น่าประกอบด้วยความคิดหลัก 9 ประการ คือ


 


1.การเปิดเผยความจริง


2.ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยการส่งเสริมแนวคิดวิเคราะห์ในสังคมไทยให้เรียนรู้การแยกคนผิดออกจากความผิด ตลอดจนเรียนรู้วิธีการมองปัญหาความรุนแรงในบริบทเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม


3.ส่งเสริมระบบและวัฒนธรรมความพร้อมรับผิดชอบในระบบราชการ


4.การให้อภัย


5.การเคารพความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรมส่งเสราสานเสวนาระหว่างกันให้ความสำคัญกับขันติธรรมในฐานะคุณค่าทางการเมือง การเรียนรู้ศาสนาต่างๆที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย


6.ถือสันติวิธีเป็นทางเลือกเผชิญความขัดแย้ง


7.การเปิดพื้นที่ให้ความทรงจำที่เจ็บปวดด้วยการเปิดพื้นที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย


 8.มุ่งแก้ปัญหาในอนาคตด้วยจินตนาการเพราะจินตนาการทางการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมการเมืองที่ยั่งยืน ให้พร้อมเผชิญปัญหาใหม่ๆ ที่สำคัญต้องลด"ภยาคติ"(ลำเอียงเพราะความกลัว)ลักษณะต่างๆ


9.การยอมรับความเสี่ยงทางสังคมเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน


 


ในส่วนที่ 5 เรื่องวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน:ข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย ระบุว่าวิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรงตามแนวทางสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติสุขที่ยั่งยืนประกอบด้วยสร้างสมานฉันท์


 


1:แก้ปัญหาความรุนแรงที่โครงสร้าง


 


1.ออกกฎหมายให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากรบนฐานความเชื่อทางศาสนา


2.คงสภาพความหลากหลายในระบบการศึกษา-เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาสามัญและให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยในต่างประเทศ


3.สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรมและเสริมความเข้มแข็งของสังคมด้วยการให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมรักษาความยุติธรรม


4.เสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้


5.ลดทอนปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วยการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญสร้างสมานฉันท์


 


2:แก้ปัญหาความรุนแรงที่ชั้นวัฒนธรรม


1.ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในขอบเขตทั่วประเทศที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในสังคมไทย


2.ส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีคนไทยในการเผชิญกับความขัดแย้งทั้งประเทศ









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net